วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โดนแมลงต่อย สัตว์กัด – วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การโดนแมลงต่อยหรือโดนสัตว์กัด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย และมักจะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในเด็ก ถ้าโดนแมลงต่อยจำพวก ผึ้ง แตน ต่อ หมาร่า หรือ แมลงภู่ แมลงหล่านี้มีเหล็กในอยู่ที่ส่วนปลายของลำตัวเมื่อต่อยเรา จะปล่อยน้ำพิษเข้ามาใส่ส่วนที่โดนต่อย และเกิดอาการต่างๆ ถ้าโดนต่อย ส่วนมากจะมีอาการ บวม แดง แสบร้อน และคัน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นหลายชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการค่อนข้างรุนแรง อาการบวมหรือแดงจะลามไปทั่วบริเวณที่ถูกต่อย และอาการเป็นหลายวัน มีอาการปวดมาก



ในผู้ถูกต่อยบางคนอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงจากการโดนผึ้งหรือต่อต่อย นอกจากบริเวณส่วนที่ถูกต่อยจะบวมแดงแล้ว ส่วนอื่นยังอาจมีอาการด้วย เช่น หนังตาคัน และริมฝีปากบวม คลื่นไส้ ลมพิษลามขึ้นทั้งตัว หายใจไม่ออก อาเจียน แน่นหน้าอก หลอดลมหดตัว ที่รุนแรงมากอาจถึงช๊อคตายได้ในเวลาไม่กี่นาที

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

  1. ให้เอาเหล็กในของแมลงที่ต่อยออก โดยใช้ปลายเข็มหรือใบมีด ขูดออก อาจใช้ สกอตเทปปิดตรงบริเวณที่ถูกต่อย แล้วดึงออกเหล็กในจะหลุดติดออกมาด้วย หรือ ใช้ด้ามปากกากดบริเวณใกล้ๆที่ถูกต่อย เพื่อดันเหล็กในให้โผล่ออกมา แล้วดึงออก ใช้แอมโมเนีย หรือสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ทาให้ทั่วบริเวณที่ถูกต่อย เพื่อทำลายภาวะเป็นกรดของพิษ แล้วใช้น้ำแข็งประคบส่วนนั้นไว้
  2. ถ้ามีอาการปวดเล็กน้อย ให้ใช้ยาหม่องทา
  3. ถ้าปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด หรืออาจใช้ถุงน้ำแข็งวางในส่วนถูกต่อยเพื่อช่วยให้อาการปวดทุเลาลง
  4. ถ้ามีอาการบวม หรือแพ้เฉพาะที่ ให้กินยาแก้แพ้
  5. ถ้าผู้ถูกแมลงต่อย มีอาการรุนแรงมากหรือช๊อค ให้รีบส่งแพทย์ ตรวจและรักษาทันที 

โดนสัตว์กัด เช่น สุนัขกัดแมว หรือหนูกัด อาจทำให้เกิดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ หรือบางครั้งอาจเป็นบาดทะยัก ถ้าเป็นงูกัด อาจเป็นอันตรายเนื่องจากพิษได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  1. ให้ผู้ถูกกัดรีบล้างแผลให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยน้ำสะอาดและฟอกด้วยสบู่ ควรจะฟอกสบู่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 นาที แล้วใช้ผ้าสะอาดหรือผ้ากอซพันแผลปิดแผลไว้ ควรล้างบาดแผลด้วยน้ำเกลือ 3-4 วัน
  2. ถ้าแผลค่อนข้างรุนแรงเหวอะหวะให้ ส่งแพทย์ทันที
  3. ถ้าโดนงูกัด ให้ใช้ผ้า หรือ เชือก สายยางรัด แขนหรือขาบริเวณที่ถูกงูกัด เหนือรอยเขี้ยวประมาณ 2-4 นิ้ว ให้รัดให้แน่นเพื่อป้องกันพิษเข้าสู่ร่างกายโดยเร็ว และต้องคลายออกทุกๆ 15 นาที โดยคลายครั้งละประมาร 30-60 วินาที จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล โดยให้เคลื่อนไหวส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยสุด ควรจัดตำแหน่งส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ เนื่องจากพิษงูที่มีผลต่อประสาท ให้เป่าปากช่วยหายใจไปตลอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ลมพิษ – สาเหตุ อาการและการรักษา

ลมพิษ พบได้ในทุกเพศทุกวัย มีโอกาสพบมากในคนวัย 20 -40 ปี มีโอกาสพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 1.5 เท่า ส่วนมากเป็นไม่นาน ไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมงจะหายเอง แต่บางรายอาจเป็นเรื้อรัง ถ้าคนใดเป็นลมพิษนานเกิน 2 เดือน เรียกว่า ลมพิษชนิดเรื้อรัง ถ้าเป็นติดกันไม่เกิน 2 เดือน เรียกว่า ลมพิษชนิดเฉียบพลัน



สาเหตุของการเกิดลมพิษ

เมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ ร่างกายจะสร้างสารที่เรียกว่า ฮิสตามีน ออกมาจากเซลล์ชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดฝอยเกิดการขยายตัว เกิดเป็นผื่นแดง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล ปลา กุ้ง ไข่ ถั่ว เต้าเจี๊ยว เหล้า เบียร์ เซรุ่ม รวมถึงพวกแมลงกัดต่อย เช่น พวกยุง ผึ้ง มด ฝุ่น เกสรดอกไม้ ละออง เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง บางครั้ง การติดเชื้อ เช่น หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคพยาธิ หรือ ไตอักเสบ ก็ทำให้เกิดอาการลมพิษได้เหมือนกัน

ในคนที่เป็นโรคลมพิษชนิดเรื้อรัง ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุของการเกิด ส่วนน้อยที่จะรู้สาเหตุ เช่น แพ้ความเย็น ความร้อน แสงแดด เหงื่อ การขีดข่วนที่ผิวหนัง หรือ แรงดันน้ำ บางครั้งอาจเป็นเพราะเป็นโรค เช่น มะเร็ง เอสแอลอี เป็นต้น

คนที่เป็นลมพิษ จะมีอาการคือ เป็นวงนูนแดง คัน มีรุปร่างต่างๆกันไป เป็น วงรี วงกลม เนื้อถายในวงจะนูนและสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย จะรู้สึกคันมาก ถ้าเกาตรงไหนจะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น และลามไปเรื่อยๆ รู้สึกร้อนตามผิวที่เกิดลมพิษ

ลมพิษเกิดขึ้นที่ส่วนต่างๆของร่างกายได้ทุกส่วน ทั้ง หน้า ลำตัว แขน ขา หลัง วงนูนแดงจะเป็นอยู่ 3-4 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นติดต่อกันเป็นวันๆก็ได้ แต่ส่วนมากจะหายไปเองในไม่กี่วัน

บางรายเป็นลมพิษรุนแรง เรียกว่า ลมพิษยักษ์ ซึ่งมีอาการบวมของเนื้อเยื่อลึก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3นิ้ว ปกติจะขึ้นที่ หนังตา ริมฝีปาก ลิ้น หู แขน มือ เป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง จะหายไปเอง ในผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังจะเป็นทุกวันอยู่นานกว่า 2 เดือน บางรายอาจเป็นแทบทุกวันเป็นปี จะหายไปเอง

การรักษา

  1. ประคบด้วยน้ำแข็ง น้ำเย็น หรือทาด้วยเหล้า หรือยาแก้ผดผื่นคัน
  2. กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน
  3. ในกรณีหายใจลำบาก หรือเป็นลมพิษยักษ์ ให้ส่งแพทย์ทันที
  4. ถ้ากินยาแล้วยังไม่ดีขึ้น 1 สัปดาห์ ให้ไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ 

ข้อแนะนำ 

  • ให้ผู้ป่วยสังเกตว่าตัวเองแพ้อะไรที่ทำให้เกิดลมพิษ อาจเป็น ยา อาหาร หรือฝุ่นละออง เพื่อที่จะได้หลีกเลื่ยงจากสารนั้นๆ
  • พยายามไม่เครียด และไม่วิตกกังวล ทำใจให้สบาย มีโอกาสทำให้ลมพิษบรรเทาได้ สำหรับคนที่เป็นเรื้อรัง ควรกินยาแก้แพ้เป็นประจำ จนกว่าจะหาย