วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อาหารไม่ย่อย จุกเสียดแน่นท้อง ควรทำอย่างไร

อาหารไม่ย่อย มีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือยอดอก โดยมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ ผสมด้วย จุกเสียด ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ เรอเปรี้ยว แสบท้อง หรืออาเจียนเล็กน้อย โดยอาการจะเป็นบริเวณระดับเหนือสะดือเท่านั้น จะไม่มีอาการปวดท้องในบริเวณใต้สะดือ หรือไม่ผิดปกติในการขับถ่ายด้วย



ชนิดของอาการอาหารไม่ย่อยและสาเหตุ

  1. อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจเกิดจากการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป หรือ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ความเครียดทางด้านจิตใจ หรือ ฮอร์โมนบางอย่างผิดปกติ
  2. ภาวะกรดไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารขึ้นไปหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบลิ้นปี่ขึ้นมาลำคอ รวมถึง เรอเปรี้ยว อาจมีสาเหตุจาก ภาวการณ์ตั้งครรภ์ ความอ้วน มีกรดออกมากเกินไป การสูบบุหรี่ การรัดเข็มขัดแน่นเกินไป หรือ การใช้ยาบางอย่าง เช่นยาต้านแคลเซียม
  3. โรคกระเพาะหรือแผลเพ็ปติก, กระเพาะอาหารอักเสบ
  4. โรคของตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือ ตับอักเสบ
  5. เกิดจากยา เช่น แอสไพริน หรือ ยาที่มีสารสเตอรอยด์ รวมถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิด
  6. อื่นๆ เข่น ความเครียดหรือความวิตกกังวลมากเกินไป
อาการเหล่านี้พบได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก บางรายอาจมีประวัติกินยา ดื่มกาแฟ หรือ ดื่มเหล้า มีความเครียดสูง นอนไม่หลับ วิตกกังวล ในผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนกลับจากกระเพาะขึ้นไปที่หลอดอาหาร จะมีอาการแสบบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่ลำคอรวมถึงมีอาการเรอเปรี้ยวด้วย เป็นมากในเวลาก้มตัวหรือนอนราบ

การรักษา
  • ถ้ามีอาการจุกเสียดแน่นท้อง เฉพาะหลังอาหาร ให้กินยาลดกรด วันละ 4 ครั้ง หรือเฉพาะตอนมีอาการ ถ้าแน่นท้องมาก หรืออาเจียน ให้กินยาเทโทโคลพราไมต์ ก่อนอาหาร 3มื้อ
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยโดยที่ทานยาแล้ว 2 อาทิตย์แล้วยังไม่ดีขึ้น มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายเป็นสีดำ ให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียด
ข้อแนะนำสำหรับ ผู้ป่วยอาหารไม่ย่อย 

  1. กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ งดอาหารเปรี้ยวจัด ของดอง รสเผ็ดจัด อาหารมัน และอาหารสุกๆดิบๆ แนะนำให้กินอาหารมื้อเย็นก่อนเวลาเข้านอนไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป
  2. หลังกินอาหารอิ่ม ไม่ควรรัดเข็มขัดแน่นเกินไป และไม่ควรอยู่ในท่างอตัวหรือล้มตัวลงนอน
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดบุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินด้ว
  4. ถ้าอ้วนเกินไป ควรลดน้ำหนัก
  5. ควรเคี้ยวอาหารอย่างละเอียด เคี้ยวช้าๆ อย่าเร่งกลืนอาหาร และอย่ากินอิ่มมากเกินไป
  6. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  7. ถ้าเครียด ควรหาวิธีคลายความเครียด เช่น ไหว้พระ นั่งสมาธิ หรือ ทำงานอดิเรก ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หวัดภูมิแพ้ – สาเหตุและอาการและวิธีรักษา

หวัดภูมิแพ้หรือหวัดจากการแพ้ พบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งจัดว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอันใด แต่สร้างความน่ารำคาญแก่ผู้ป่วย ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีประวัติว่าเป็นโรคภูมิแพ้ในอดีตหรือมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็น โรคเหล่านี้ เช่น ลมพิษ หืด เป็นหวัดจามบ่อยๆ หรือ เป็นผื่นคัน โดยมีสาเหตุมากจากกรรมพันธุ์

อาการของผู้ป่วยหวัดภูมิแพ้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัดภูมิแพ้จะมีอาการเป็นหวัดจามบ่อย คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ คันตา คันคอ ไอแห้งๆ น้ำตาไหล แสบคอ อาจมีอาการปวดตื้อบริเวณหน้าผาก และอาการต่างๆเหล่านี้มักเกิดเป็นประจำตอนเช้าๆ หรือตอนอากาศเย็น ถูกฝุ่นละออง และพอช่วงสายๆ อาการเหล่านี้จะหายไป



การรักษา

  • ผู้ป่วยต้องสังเกตตัวเองว่าแพ้สารอะไรแล้วพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น ถ้าไปยังสถานที่ที่มีฝุ่นละอองมาก แล้วมีอาการออกมาเช่น จาม หรือ มีน้ำมูก ก็แสดงว่าแพ้ฝุ่น ให้หลีกเลี่ยง ถ้าเป็นในขณะที่นอน ก็อาจเป็นไปได้ว่าแพ้ที่นอนหรือนุ่นในที่นอน หรือที่นอนมีไรฝุ่นอยู่ ก็ให้ทำความสะอาดที่นอน หรือเปลี่ยนที่นอนเป็นแบบไม่ใช้นุ่น
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการทดสอบผิวหนังว่าแพ้สารอะไร แล้วทำการดีเซนซิไทเซขัน หรือการขจัดภูมิไว โดยฉีดสารที่แพ้เข้าร่างกายทีละน้อย เป็นประจำ 1-2 สัปดาห์นานเป็นปี แต่การทำวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูง
  • ถ้ามีน้ำมูกไหลมาก คัดจมูก ก็กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าคัดจมูกมาก ให้กินยาแก้คัดจมูกด้วย แนะนำยาเหล่านี้ให้กินเฉพาะที่มีอาการมากเท่านั้น หรือกินเฉพาะก่อนนอน เพราะยาแก้แพ้ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน
  • ถ้ากินยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์
โรคหวัดภูมิแพ้มักเป็นเรื้อรัง ถ้ามีอาการแค่เล็กน้อย พยายามอย่ากินยาอะไรทั้งสิ้น ห้ามผู้ป่วยกินยาชุดหรือยาลูกกลอนเองเพราะมักมีสารสเตอรอยด์เจือปนอยู่ด้วย ถ้ากินติดต่อกันนานๆอาจมีผลข้างเคียงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

สำหรับยาพ่นจมูก ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้ใช้ ถ้าใช้บ่อยเกินไปอาจทำให้เยื่อจมูกบางหรืออักเสบได้ และไม่มีความจำเป็นสำหรับการรักษาโรคนี้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ เว้นแต่เป็นไซนัสอักเสบหรือน้ำมูกเป็นสีเขียวหรือเหลือง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ จะมีส่วนช่วยทำให้อาการของโรคหวัดภูมิแพ้ทุเลาลงได้ และพยายามทำตัวเองไม่ให้เครียด ก็มีส่วนช่วยให้โรคนี้ทุเลาลง