วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มาบำรุงผิวหน้าด้วยแครอทกันเถอะ

แครอทมีวิตะมินAอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ให้ประโยชน์ในการบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งหน้าทะนุถนอม เหมาะอย่างยิ่งในการฟื้นฟูใบหน้าที่หมองคล้ำจากการตากแดดตากลมเป็นอันมาก แครอทจะคืนความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าที่แห้งตึงและไม่มีน้ำมีนวลให้ดูสดใสและสดชื่น และดูดีน่าสัมผัส ควรบำรุงโดยใช้แครอทเป็นประจำทุกๆ 7 วัน



สูตรการบำรุงผิวที่เสียจากการตากแดดตากลมด้วยแครอท

แครอทสดๆ 4-5 หัว
กะละมังใบเล็กๆ, ชาม
หมวกคลุมผมสำหรับอาบน้ำ
ผ้าขนหนูเล็กๆ
เครื่องปั่นน้ำผลไม้และช้อนส้อม

ขั้นตอนการบำรุง

ล้างหน้าของคุณด้วยน้ำอุ่นโดยใช้สบู่หรือโฟมล้างหน้า ถ้าจะบำรุงทั่วทั้งตัวต้องอาบน้ำชำระล้างให้ร่างกายสะอาดเสียก่อน

  1. ล้างแครอทให้สะอาดไม่ต้องปอกเปลือก แต่ต้องล้างให้สะอาดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจใช้ช้อนขูด ส่วนที่สกปรกบนผิวเปลือกทิ้งออกไป
  2. ใช้มีดคมๆ หั่นแครอทเป็นแว่นๆ แล้วนำใส่เครื่องปั่น ปั่นให้ละเอียดพอประมาณแต่ไม่ต้องปั่นจนเป็นน้ำหรือจนกลายเป็นครีม ถ้าไม่มีเครื่องปั่นให้ซอยๆหรือสับจนละเอียดค่อนข้างมากแล้วใช้ช้อนบี้และผสมน้ำลงไปในเนื้อสักเล็กน้อย
  3. นำน้ำแครอทนั้นมาทาให้ทั่วๆ บริเวณใบหน้าอย่าลืมคลุมศีรษะด้วยหมวกอาบน้ำ หรือใช้ที่คาดผมคาดเส้นผมให้เรียบร้อย ทาที่เรียวแขนทั้ง 2 ข้าง หรือจะบำรุงผิวพรรณที่ขาหรือทั่วทั้งตัวเลยก็ได้
  4.  พอกแครอทให้ทั่วๆและปล่อยทิ้งไว้นานประมาณ 20-15 นาทีแล้วค่อยล้างหน้าและทำความสะอาดส่วนที่ทาด้วยน้ำอุ่นกับสบู่ ถ้าคุณต้องการที่จะบำรุงผิวพรรณทั้งตัวที่แห้งกร้านให้มีความนุ่มนวลขึ้น คุณสามารถเพิ่มปริมาณแครอทได้ตามความพอใจ หรือจะใช้แต่เพียงบำรุงผิวหน้ากับช่วงแขนเท่านั้นก็สามารถที่จะทำได้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาหารที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

อาหารที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ: โรคหัวใจมี 4 ชนิด คือ โรคหัวใจที่พิการแต่กำเนิด, โรคหัวใจที่เนื่องจากเชื้อโรค เช่น รูมาติค ซิฟิลิส, โรคหัวใจที่เนื่องจากแรงดันเลือดสูง และโรคหัวใจที่เนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ในที่นี้จะพูดถึง โรคหัวใจรูมาติค และโรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือด สาเหตุของโรคนี้เนื่องมาจาก การกินอาหารไม่ถูกต้อง (กินดีเกินไป), สูบบุหรี่จัด (และมักดื่มสุรามากด้วย), ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและมีความเครียดในจิตใจ เราควรกินอะไรบ้าง



1. กินอาหารมังสวิรัติ เช่น เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ ผัก และผลไม้สด เมล็ดทานตะวัน งา มะม่วงหิมพานต์ น้ำมันเมล็ดนุ่น ลูกกระเจี๊ยบ มันฝรั่งและกล้วยมีโปแตสเซียมมาก ซึ่งสำคัญต่อการทำงานของหัวใจ กระเจี๊ยบทุกชนิดจะมียางลื่นๆ ยางนี้จะช่วยลดการเสียดสีในหลอดเลือด

2. กินเล็คซิติน เป็นสารซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้ไขมันเกาะกันเป็นก้อนในหลอดเลือด เพราะการเกาะกันเป็นก้อนในหลอดเลือดนั้นอาจไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เป็นอันตรายอย่างรุนแรงได้ เล็คซิติน มีอยู่ในถั่วเหลือง ไข่แดง ตับ ฉะนั้นถ้าไม่อยากกินมังสวิรัติเต็มรูปก็อะลุ้มอล่วยกินนมและไข่ได้ ห้ามกินสิ่งต่อไปนี้
  • เกลือหรือของเค็มมากเกินไป 
  • อาหารที่ถูกขัดหรือฟอกจนขาว เช่น น้ำตาลทรายขาว ขนมปังขาว ให้กินน้ำตาลปึก น้ำตาลมะพร้าว ข้าวอนามัย เป็นต้น และห้ามกินไขมันที่ผลิตขึ้น เช่น มาการีน และคอฟฟี่เมท
  • ดื่มกาแฟมากๆวันละหลายๆแก้ว 

3. กินอาหารที่ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด เช่น หัวหอม กระเทียม

วิธีกินเพื่อลดไขมันในเส้นเลือด

  • กินไขมันน้อยกว่าวันละ 50 กรัม และควรเป็นไขมันพืชประกอบด้วยอย่างน้อยสองในสามของทั้งหมด
  • รำข้าวช่วยลด โคเลสเตอรอล รำช้าวสาลีหรือวีทแบรนก็ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
  • ผลไม้ที่มีเปคตินมากได้แก่ แอปเปิล เปคตินจะช่วยกำจัดการดูดซึมไขมัน ฉะนั้นจะลดไขมันในเส้นเลือดได้
  • มะเขือ เช่น มะเขือพวง
  • โยเกิร์ต
  • ถั่วเหลือง มีเล็คซิธิน ซึ่งช่วยในการเคลื่อนย้ายโคเลสเตอรอล และช่วยขจัดไขมันและโคเลสเตอรอลจากเลือด ถั่วเหลืองที่หากินได้ง่ายที่สุดคือเต้าหู้ ซึ่งคงจะทราบกันดีอยู่แล้ว
  • ไวตามินบี3 หรือ ไนอาซิน
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ไลโนเลอิคแอซิดช่วยละลายโคเลสเตอรอลได้ดี ถ้าได้รับไวตามินบี6 ร่วมด้วยก็จะช่วยเปลี่ยนให้เป็นโคเลสเตอรอลไลโนเลเอท ดังนั้น กรดไขมันไม่อิ่มตัว ก็ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  • การออกกำลังกาย วันละ 30นาที ถึง 1ชั่วโมง ช่วยลดไขมันในเลือดได้แน่นอน
  • ต้องรักษาจิตใจไม่ให้มีความเครียด มีอารมณ์ดีอยู่เสมอ เพราะความเครียดทำให้เกิด cholesterol สูง

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การป้องกันบาดทะยัก

บาดทะยัก เป็นโรคที่ร้ายแรง เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า คลอสตริเดียมเตตานิ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะพบตามพื้นดิน หิน ทราย และในอุจจาระของสัตว์ต่างๆ เมื่อร่างกายมีบาดแผลที่เปื้อนด้วยเชื้อโรคชนิดนี้ และเป็นแผลลึก เมื่อเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายจะปล่อยสารพิษซึ่งจะทำลายระบบประสาทของคนที่ติดเชื้อ ทำให้ทั่วร่างกายมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ



อาการของคนที่เป็นโรคบาดทะยัก

ในช่วงระยะแรกของการติดเชื้อ จะมีอาการขากรรไกรแข็ง ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ อ้าปากไม่ได้ กระสับกระส่าย กลืนอาหารลำบาก ถ้าทารกติดเชื้อนี้ จะมีอาการร้องไห้จ้า อ้าปากไม่ได้ และไม่ยอมดูดนม

กล้ามเนื้อทั่วไป เช่น แขนขา หน้าท้อง และหลัง เกิดหดตัวอย่างรุนแรง คอแข็ง และหลังแอ่น

ต่อมาผู้ป่วยจะชักกระตุกของกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นพักๆ โดยเฉพาะเมื่อถูกเนื้อต้องตัวหรือถูกแสงสว่าง ผู้ติดเชื้อบาดทะยักจะรู้สึกตัวดี แต่จะรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อเกิดอาการชักกระตุก เมื่อเกิดอาการชักกระตุก ผู้ป่วยอาจหายใจลำบาก และถึงตายได้ บางรายอาจเกิดอาการขาดอาหารเพราะกลืนอาหารไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อหูรูดเกิดการแข็งตัว

ถ้าผู้ป่วยรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็น มีโอกาสหายได้ แต่ถ้าไม่รีบรักษาปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรงแล้ว มีโอกาสอย่างมากที่จะตาย โดยปกติ ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดตายจากโรคนี้ประมาณ 50%

การป้องกันโรคบาดทะยัก

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน เมื่อทารกอายุ 2 เดือน และควรฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี
  2. หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยฉีดยาป้องกันบาดทะยักมาก่อนเลย ควรฉีดเพื่อป้องกันบาดทะยักรวม 3 ครั้ง 
  3. เมื่อมีบาดแผลจากการถูกหนามตำ ตะปูตำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สัตว์กัด หรือบาดแผลสกปรกใดๆ ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ทันทีหรือเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
  4. สำหรับผู้มีบาดแผลสกปรกหรือขนาดใหญ่ แล้วไม่เคยฉีดยาป้องกันบาดทะยักมาก่อนเลย ควรรับการฉีดอิมมูนโกลบูลินเพื่อป้อนกันพิษบาดทะยัก หรือ เซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ควรฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นอีก 1 ครั้ง แต่ถ้าก่อนหน้านี้เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาไม่เกิน 5 ปี ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก