วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

โรคเบาหวาน – อาการและสาเหตุของโรค

โรคเบาหวานในประชากรทั่วไปมีคนเป็นโรคนี้ ประมาณ 1.5% พบได้ในทุกวัยแต่จะพบมากในผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 40ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่มีลูกมากและคนอ้วน มีโอกาสสูงที่จะเป็นเบาหวาน เบาหวาน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะอาการ ความรุนแรง การรักษาที่ต่างกัน และสาเหตุ



เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน เป็นประเภทที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายและความรุนแรงของอาการสูง มักพบในคนที่อายุต่ำกว่า 25ปีและในเด็ก ตับอ่อนของผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดนี้แทบจะสร้างอินซูลินไม่ได้เลย เนื่องเพราะความผิดปกติจากทางกรรมพันธุ์ หรือได้รับสารผิด ร่วมกับการติดเชื้อ เกิดโรคภูมิต้านตัวเอง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านและทำลายตับอ่อนจนสร้างอินซูลินไม่ได้

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดนี้ต้องฉีดอินซูลินเข้าทดแทนส่วนที่สร้างไม่ได้ทุกวัน เพื่อที่จะเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ ถ้าไม่ฉีดอินซูลินเข้าร่างกายแล้ว จะทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันแทนน้ำตาล ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยผ่ายผอมลงอย่างรวดเร็ว

ถ้าเป็นโรคนี้อย่างแรง จะมีการคั่งของสารคีโตน ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นมาจากการเผาผลาญไขมัน ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะคั่งสารคีโตน ซึ่งผู้ป่วยจะหมดสติถึงตายอย่างรวดเร็ว

เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน เป็นเบาหวานที่พบในคนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะมีความรุนแรงน้อยกว่าประเภทแรก มีโอกาสสูที่จะพบในคนวัย 40 ปีขึ้นไป ตับอ่อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดนี้ ยังพอสร้างอินซูลินได้ แต่ได้ปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้เผาผลาญน้ำตาลได้ไม่หมด กลายเป็นโรคเบาหวานได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดนี้ยังอาจแบ่งเป็น พวกคนที่อ้วนมาก และ ที่ไม่อ้วน สาเหตุคาดว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ อ้วนมากเกินไป มีลูกมาก หรือจากการใช้ยา ผู้ป่วยมักไม่ค่อยเกิดภาวะคีโตซิส การควบคุมอาหารและใช้ยาชนิดกิน ก็เพียงพอต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ หรืออาจต้องฉีดอินซูลินบ้างเป็นครั้งคราว

สาเหตุของโรคเบาหวาน โรคเบาหวานเกิดจาก ตับอ่อนของผู้ป่วยสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของร่างกายหรือผลิตไม่ได้เลย ฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลออกมาเป็นพลังงาน เมื่อปริมาณอินซูลินไม่เพียงพอ น้ำตาลก็ไม่ถูกเผาผลาญไปใช้ จึงเกิดการสะสมและคั่งของน้ำตาลในเลือดและในอวัยวะส่วนต่างๆ เมื่อคั่งมากๆเข้า ไตก็จะกรองออกมากับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะที่ออกมาหวาน หรือมีมดมาขึ้นได้ เมื่อผู้ป่วยปัสสาวะออกมา ที่เรียกกันว่า เบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานปกติจะปัสสาวะบ่อยมาก เนื่องเพราะน้ำตาลที่ออกมาทางไตดึงเอาน้ำออกมาด้วย ทำให้ปัสสาวะมาก ทำให้ผู้ป่วยกระหายน้ำต้องดื่มน้ำบ่อย และเนื่องเพราะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลออกมาเป็นพลังงานได้จึงต้องใช้พลังงานจากไขมันแทนจึงทำให้ ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อลีบ และไม่มีแรง

โรคเบาหวานนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ นั่นคือถ้ามีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน เช่นพ่อแม่เป็นเบาหวาน ลูกก็มีโอกาสเป็นเบาหวานด้วย อาจมีสาเหตุอื่นเช่น อ้วนมากเกินไปเพราะกันของหวานมากจนอ้วน ก็อาจเป็นเบาหวานได้ หรืออาจเป็นเบาหวานจากการใช้ยาพวก สเตอรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรืออาจพบร่วมกับโรคอื่นๆเช่น ตับแข็งระยะสุดท้าย ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไข้หวัดใหญ่ – อาการ สาเหตุและการป้องกัน

ไข้หวัดใหญ่พบมากในทุกเพศทุกวัย แต่จะเป็นกันบ่อยในฤดูฝน โดยปกติเมื่อผู้ใหญ่ที่มีไข้สูงเกิน 2-3วัน โดยไม่มีอาการอื่นอย่างชัดเจน แพทย์มักจะวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ก็ได้

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อ ไวรัสอินฟลูเอนซา ซึ่งเชื้อนี้มีมากในน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้โดย การ ไอ หรือ จาม หรือสัมผัสถูกสิ่งของที่ผู้ป่วยใช้หรือมีเชื้อแปดเปื้อน



อาการของไข้หวัดใหญ่ 

ไข้หวัดใหญ่มีระยะฟักตัว 1-4 วัน ไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการคือ จะมีไข้ขึ้นสูงแบบทันทีทันใด ไข้ 38.5 – 40 องศาเซลเซียส หนาวๆร้อนๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คัดจมูก ไอแห้งๆ มีน้ำมูกใส และ คอแดงหรืออาจไม่แดง และไม่พบความผิดปกติอย่างอื่น มีอาการเจ็บคอ ไข้มักเป็นประมาณ 2-4วัน แล้วจะค่อยๆลดลง มีอาการไอ และอ่อนเพลีย 1-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการวิงเวียน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในเกิดการอักเสบ และมักจะหายไปใน 3-5 วัน ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงมักเกิดกับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง บางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยๆคือ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ และหลอดลมอักเสบ

การรักษาและดูแลผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ 

  • โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ให้ดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น ดื่มน้ำมากๆ ให้อาบน้ำอุ่น อย่าอาบน้ำเย็น ส่วนมากถ้าดูแลร่างกายให้แข็งแรงขึ้น จะหายเอง ใน 3-5 วัน ให้พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้านอนน้อย หรือทำงานหนักเกินไป อาจหายช้าหรือมีโรคแทรกซ้อนได้
  • ถ้ามีไข้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น เช็ดตาเนื้อตัว ให้กินอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
  • ถ้าไอให้จิบน้ำอุ่นหรือน้ำผึ้งผสมมะนาว หรืออาจจิบยาแก้ไอก็ได้ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 
  • ไม่ควรให้กินยาแอสไพรินในการลดไข้ เพราะมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคเรย์ซินโดรมเพิ่มขี้นได้ ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เว้นแต่มีน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียว เพราะมีการแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ เป็นไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือ หูชั้นกลางอักเสบ ถ้ามีอาการหอบ อาจเป็นปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็กหรือ ผู้สูงอายุ 
  • ให้ส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด ถ้ามีไข้เกินกว่า 7 วัน มีโอกาสที่จะไม่ใช่โรคไข้หวัดใหญ่มาก แต่อาจเป็นโรคอื่นเช่น มาลาเรีย ไทฟอยด์ วัณโรคปอด 
  • ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว แต่การดูแลรักษาเหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

การป้องกันต้อกระจกในผู้สูงอายุ

ต้อกระจกเป็นภาวะที่เลนส์แก้วตาเกิดขุ่นขาว ทำให้บดบังการมองเห็น ผู้ป่วยจะมีอาการมากหรือน้อย ขึ้นกับระดับความขุ่นและตำแหน่งที่เป็น ต้อกระจกในผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมของร่างกายเช่นเดียวกับการเสื่อมของผิวหนังหรือสีของผม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะเกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าคนปกติ การหยอดยาหรือกินยาที่มีสารประกอบของสตีรอยด์ก็จะเกิดต้อกระจกได้ สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องทำงาน หรือต้องสัมผัสแสงแดดดควรใส่แว่นตากรองแสงเพื่อป้องกันแสง อัลตราไวโอเลตซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของต้อกระจก

การป้องกันและชะลอให้เกิดต้อกระจกช้าลง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การบำรุงร่างกายให้แข็งแรงกินอาหารที่เป็นประโยชน์มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และควรออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ



คนเป็นต้อกระจกมีอาการอะไรบ้าง ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร


อาการของผู้เป็นต้อกระจก ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการตามัวเหมือนฝ้าบางๆ มาบังสายตา อาการตามัวจะเพิ่มขึ้นช้าๆ ไม่มีอาการเจ็บปวดตาจะมัวมากเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า ต่อเมื่อเข้าในที่แสงสลัวการเห็นจะเห็นชัดขึ้น บางรายอาจมองเห็นภาพซ้อนได้ ในรายที่เป็นมานานและมากจนเลนส์ตาขุ่นขาวทั้งหมดที่คนทั่วไปเรียกว่า ต้อกระจกสุก เมื่อส่องไฟไปที่รูม่านตาจะเห็นเป็นสีขาวขุ่น ต้อกระจกในระยะนี้ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดเอาต้อกระจกออก อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน เลนส์แก้วตา อาจหลุดและตาลงในช่องวุ้นตาถ้ารักษาไม่ทันอาจสูญเสียสายตาได้

ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกควรมาพบแพทย์เป็นระยะทุก 3-6 เดือน ถ้าเลนส์ตาขุ่นมากจนถึงขั้นสมควรผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้เตรียมตัวเพื่อมารับการผ่าตัด

การรักษาต้อกระจกมีกี่วิธี อะไรบ้าง

การรักษาต้อกระจกมีประการเดียวคือการผ่าตัดเลนส์ตาที่ขุ่นออกแล้วใส่เลนส์ใหม่แทน เลนส์ที่ใส่หลังผ่าตัดต้อกระจกมีหลายแบบ เช่น ใส่เลนส์แก้วตาเทียมฝังเข้าไปแทนที่เลนส์เดิม นอกจากนั้นอาจใช้แว่นตาหรือใช้เลนส์สัมผัส วิธีที่นิยมและได้ผลดีที่สุดคือใช้เลนส์แก้วตาเทียมใส่แทนที่เลนส์ต้อกระจกที่ลอกออก เนื่องจากทำให้สามารถมองภาพได้ชัดเจนและคล้ายธรรมชาติมากที่สุด แต่ถ้าจะต้องการอ่านหนังสือหรือมองใกล้ๆ ต้องใช้แว่นตาช่วย

ในปัจจุบัน มีวิวัฒนาการของเครื่องมือเครื่องใช้ ที่ทำให้ผลการผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นหลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาลและสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนหลังผ่าตัดเพียง 2-3 วันเท่านั้น