วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรคเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ

โรคหลายๆอย่างในผู้สูงอายุ หรือโรคที่เป็นมาแต่วัยหนุ่มสาวอาจทำให้มีการเสียการทรงตัวได้มาก หรือเสื่อมเร็วขึ้น ได้แก่

  • โรคเบาหวาน จะทำให้เกิดการเสื่อมของร่างกายโดยทั่วไปรวมทั้งระบบประสาทโดยรวม
  • โรคความดันโลหิตสูง การมีความดันโลหิตสูงนั้นหลอดเลือดแข็งตัวอาจมีอาการทางหัวใจด้วย ทำให้การไหลเวียนกระแสโลหิตไปหูชั้นในส่วนการทรงตัวบกพร่อง รวมทั้งการบกพร่องของกระแสโลหิตไปสู่สมองส่วนกลางที่ประมวลข้อมูลการทรงตัว ทำให้ผู้นั้นเกิดอาการวูบ หน้ามืดหรือเวียนหัวบ้านหมุน ตาลายได้
  • โรคไตวาย มีของเสียคั่งค้างในร่างกาย จะมีผลถึงปลายประสาทในหูชั้นใน เพราะหูชั้นในมีน้ำเลือดเป็นน้ำเหลืองหล่อเลี้ยงประสาททรงตัว ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเสื่อมได้
  • โรคหัวใจ จะทำให้การบีบตัวของหัวใจ เพื่อผลักดันเลือดให้เกิดการไหลเวียนกระแสโลหิตไปทั่วร่างกายไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆบกพร่องอวัยวะปลายทาง ได้แก่หูชั้นในและสมองก็จะเสื่อมเร็วลงด้วย 
  • โรคไขข้อเสื่อมหรือข้อเสื่อม ข้อต่อต่างๆของร่างกายเป็นกลไกสำคัญในการเคลื่อนไหว ข้อต่อเหล่านั้น มีน้ำหล่อลื่นและมีกล้ามเนื้อและเอ็นช่วยยืด ช่วยหด เพื่อการใช้งาน ถ้าไขข้อเสื่อม กระดูกข้อเสื่อม กล้ามเนื้อและเอ็นเสื่อม การทำงานก็จะบกพร่องและการเคลื่อนไหวทรงตัว จะเป็นไปได้อย่างลำบาก
  • โรคกระดูกเสื่อมหรือกระดูกงอก ที่สำคัญคือกระดูกข้อต่อส่วนคอ เนื่องจากหลอดเลือดจากหัวใจไปสู่สมอง โดยทอดไปตามรูเปิดของกระดูกคอ ดังนั้นถ้ากระดูกเสื่อม กระดูกงอก อาจกดทับหลอดเลือดทำให้เลือดไหลไปหูชั้นในและสมองไม่สะดวก และอาจเกิดอาการวูบ หน้ามืด ตาลาย เวลาหันหรือแหงนคอ หรือเงยศีรษะ
  • โรคของต่อมไร้ท่อ เช่นโรคธัยรอยด์ มีฮอร์โมนธัยรอยด์ต่ำหรือสูงเกินไป จะมีผลต่อหูชั้นในได้ • โรคของหู เช่นหูน้ำหนวก โรคหูชั้นในที่ชาวบ้านเรียกน้ำในหูไม่เท่ากัน

ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าผู้สูงอายุเสียการทรงตัวเพราะเหตุใด


การระบุว่าผู้เสียอายุเสียการทรงตัวเพราะเหตุใดนั้น จำเป็นต้องตรวจค้นหาสาเหตุ แพทย์ต้องตรวจหลายๆอย่างประกอบกัน ได้แก่

  1. ประวัติ การเจ็บป่วยที่ผ่านมาและกำลังเป็นอยู่
  2. ตรวจวัดความดันโลหิต และอาจต้องตรวจหัวใจด้วย
  3. ตรวจการทรงตัว อาจทำให้หลายวิธีตั้งแต่ การยืน การเดิน การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษตรวจ แยกการเสื่อมทางการเห็น การเสื่อมของข้อต่อ การเสื่อมของหูชั้นในและสมอง เพื่อรู้สาเหตุสำคัญเพราะผู้สูงอายุมักจะเสียการทรงตัวจากหลายๆสาเหตุประกอบกัน
  4. ตรวจเคมีเลือด เพื่อหาความผิดปกติ ได้แก่ น้ำตาลสูง ไขมันสูง ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุสำคัญของการบกพร่องของการไหลของกระแสโลหิต
  5. การตรวจหูและการได้ยิน มีความสำคัญเพื่อแยกสาเหตุจากโรคหู เพื่อการรักษาที่แตกต่างออกไป
  6. การตรวจคลื่นสมอง วัดการทำงานของศูนย์ได้ยิน ศูนย์ทรงตัวในสมอง จะสามารถแยกโรคของหูชั้นใน โรคเนื้องอกของประสาททรงตัวและโรคศูนย์ในก้านสมองเสื่อมได้
  7. ตรวจการไหลของโลหิตไปสมอง โดยใช้ระบบอัลตราซาวนด์เปรียบเทียบความเร็วและความดันของกระแสโลหิตไปสมองทั้งซีกซ้ายและขวา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น