วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มาบำรุงผิวหน้าด้วยแครอทกันเถอะ

แครอทมีวิตะมินAอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ให้ประโยชน์ในการบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งหน้าทะนุถนอม เหมาะอย่างยิ่งในการฟื้นฟูใบหน้าที่หมองคล้ำจากการตากแดดตากลมเป็นอันมาก แครอทจะคืนความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าที่แห้งตึงและไม่มีน้ำมีนวลให้ดูสดใสและสดชื่น และดูดีน่าสัมผัส ควรบำรุงโดยใช้แครอทเป็นประจำทุกๆ 7 วัน



สูตรการบำรุงผิวที่เสียจากการตากแดดตากลมด้วยแครอท

แครอทสดๆ 4-5 หัว
กะละมังใบเล็กๆ, ชาม
หมวกคลุมผมสำหรับอาบน้ำ
ผ้าขนหนูเล็กๆ
เครื่องปั่นน้ำผลไม้และช้อนส้อม

ขั้นตอนการบำรุง

ล้างหน้าของคุณด้วยน้ำอุ่นโดยใช้สบู่หรือโฟมล้างหน้า ถ้าจะบำรุงทั่วทั้งตัวต้องอาบน้ำชำระล้างให้ร่างกายสะอาดเสียก่อน

  1. ล้างแครอทให้สะอาดไม่ต้องปอกเปลือก แต่ต้องล้างให้สะอาดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจใช้ช้อนขูด ส่วนที่สกปรกบนผิวเปลือกทิ้งออกไป
  2. ใช้มีดคมๆ หั่นแครอทเป็นแว่นๆ แล้วนำใส่เครื่องปั่น ปั่นให้ละเอียดพอประมาณแต่ไม่ต้องปั่นจนเป็นน้ำหรือจนกลายเป็นครีม ถ้าไม่มีเครื่องปั่นให้ซอยๆหรือสับจนละเอียดค่อนข้างมากแล้วใช้ช้อนบี้และผสมน้ำลงไปในเนื้อสักเล็กน้อย
  3. นำน้ำแครอทนั้นมาทาให้ทั่วๆ บริเวณใบหน้าอย่าลืมคลุมศีรษะด้วยหมวกอาบน้ำ หรือใช้ที่คาดผมคาดเส้นผมให้เรียบร้อย ทาที่เรียวแขนทั้ง 2 ข้าง หรือจะบำรุงผิวพรรณที่ขาหรือทั่วทั้งตัวเลยก็ได้
  4.  พอกแครอทให้ทั่วๆและปล่อยทิ้งไว้นานประมาณ 20-15 นาทีแล้วค่อยล้างหน้าและทำความสะอาดส่วนที่ทาด้วยน้ำอุ่นกับสบู่ ถ้าคุณต้องการที่จะบำรุงผิวพรรณทั้งตัวที่แห้งกร้านให้มีความนุ่มนวลขึ้น คุณสามารถเพิ่มปริมาณแครอทได้ตามความพอใจ หรือจะใช้แต่เพียงบำรุงผิวหน้ากับช่วงแขนเท่านั้นก็สามารถที่จะทำได้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาหารที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

อาหารที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ: โรคหัวใจมี 4 ชนิด คือ โรคหัวใจที่พิการแต่กำเนิด, โรคหัวใจที่เนื่องจากเชื้อโรค เช่น รูมาติค ซิฟิลิส, โรคหัวใจที่เนื่องจากแรงดันเลือดสูง และโรคหัวใจที่เนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ในที่นี้จะพูดถึง โรคหัวใจรูมาติค และโรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือด สาเหตุของโรคนี้เนื่องมาจาก การกินอาหารไม่ถูกต้อง (กินดีเกินไป), สูบบุหรี่จัด (และมักดื่มสุรามากด้วย), ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและมีความเครียดในจิตใจ เราควรกินอะไรบ้าง



1. กินอาหารมังสวิรัติ เช่น เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ ผัก และผลไม้สด เมล็ดทานตะวัน งา มะม่วงหิมพานต์ น้ำมันเมล็ดนุ่น ลูกกระเจี๊ยบ มันฝรั่งและกล้วยมีโปแตสเซียมมาก ซึ่งสำคัญต่อการทำงานของหัวใจ กระเจี๊ยบทุกชนิดจะมียางลื่นๆ ยางนี้จะช่วยลดการเสียดสีในหลอดเลือด

2. กินเล็คซิติน เป็นสารซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้ไขมันเกาะกันเป็นก้อนในหลอดเลือด เพราะการเกาะกันเป็นก้อนในหลอดเลือดนั้นอาจไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เป็นอันตรายอย่างรุนแรงได้ เล็คซิติน มีอยู่ในถั่วเหลือง ไข่แดง ตับ ฉะนั้นถ้าไม่อยากกินมังสวิรัติเต็มรูปก็อะลุ้มอล่วยกินนมและไข่ได้ ห้ามกินสิ่งต่อไปนี้
  • เกลือหรือของเค็มมากเกินไป 
  • อาหารที่ถูกขัดหรือฟอกจนขาว เช่น น้ำตาลทรายขาว ขนมปังขาว ให้กินน้ำตาลปึก น้ำตาลมะพร้าว ข้าวอนามัย เป็นต้น และห้ามกินไขมันที่ผลิตขึ้น เช่น มาการีน และคอฟฟี่เมท
  • ดื่มกาแฟมากๆวันละหลายๆแก้ว 

3. กินอาหารที่ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด เช่น หัวหอม กระเทียม

วิธีกินเพื่อลดไขมันในเส้นเลือด

  • กินไขมันน้อยกว่าวันละ 50 กรัม และควรเป็นไขมันพืชประกอบด้วยอย่างน้อยสองในสามของทั้งหมด
  • รำข้าวช่วยลด โคเลสเตอรอล รำช้าวสาลีหรือวีทแบรนก็ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
  • ผลไม้ที่มีเปคตินมากได้แก่ แอปเปิล เปคตินจะช่วยกำจัดการดูดซึมไขมัน ฉะนั้นจะลดไขมันในเส้นเลือดได้
  • มะเขือ เช่น มะเขือพวง
  • โยเกิร์ต
  • ถั่วเหลือง มีเล็คซิธิน ซึ่งช่วยในการเคลื่อนย้ายโคเลสเตอรอล และช่วยขจัดไขมันและโคเลสเตอรอลจากเลือด ถั่วเหลืองที่หากินได้ง่ายที่สุดคือเต้าหู้ ซึ่งคงจะทราบกันดีอยู่แล้ว
  • ไวตามินบี3 หรือ ไนอาซิน
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ไลโนเลอิคแอซิดช่วยละลายโคเลสเตอรอลได้ดี ถ้าได้รับไวตามินบี6 ร่วมด้วยก็จะช่วยเปลี่ยนให้เป็นโคเลสเตอรอลไลโนเลเอท ดังนั้น กรดไขมันไม่อิ่มตัว ก็ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  • การออกกำลังกาย วันละ 30นาที ถึง 1ชั่วโมง ช่วยลดไขมันในเลือดได้แน่นอน
  • ต้องรักษาจิตใจไม่ให้มีความเครียด มีอารมณ์ดีอยู่เสมอ เพราะความเครียดทำให้เกิด cholesterol สูง

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การป้องกันบาดทะยัก

บาดทะยัก เป็นโรคที่ร้ายแรง เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า คลอสตริเดียมเตตานิ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะพบตามพื้นดิน หิน ทราย และในอุจจาระของสัตว์ต่างๆ เมื่อร่างกายมีบาดแผลที่เปื้อนด้วยเชื้อโรคชนิดนี้ และเป็นแผลลึก เมื่อเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายจะปล่อยสารพิษซึ่งจะทำลายระบบประสาทของคนที่ติดเชื้อ ทำให้ทั่วร่างกายมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ



อาการของคนที่เป็นโรคบาดทะยัก

ในช่วงระยะแรกของการติดเชื้อ จะมีอาการขากรรไกรแข็ง ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ อ้าปากไม่ได้ กระสับกระส่าย กลืนอาหารลำบาก ถ้าทารกติดเชื้อนี้ จะมีอาการร้องไห้จ้า อ้าปากไม่ได้ และไม่ยอมดูดนม

กล้ามเนื้อทั่วไป เช่น แขนขา หน้าท้อง และหลัง เกิดหดตัวอย่างรุนแรง คอแข็ง และหลังแอ่น

ต่อมาผู้ป่วยจะชักกระตุกของกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นพักๆ โดยเฉพาะเมื่อถูกเนื้อต้องตัวหรือถูกแสงสว่าง ผู้ติดเชื้อบาดทะยักจะรู้สึกตัวดี แต่จะรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อเกิดอาการชักกระตุก เมื่อเกิดอาการชักกระตุก ผู้ป่วยอาจหายใจลำบาก และถึงตายได้ บางรายอาจเกิดอาการขาดอาหารเพราะกลืนอาหารไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อหูรูดเกิดการแข็งตัว

ถ้าผู้ป่วยรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็น มีโอกาสหายได้ แต่ถ้าไม่รีบรักษาปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรงแล้ว มีโอกาสอย่างมากที่จะตาย โดยปกติ ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดตายจากโรคนี้ประมาณ 50%

การป้องกันโรคบาดทะยัก

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน เมื่อทารกอายุ 2 เดือน และควรฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี
  2. หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยฉีดยาป้องกันบาดทะยักมาก่อนเลย ควรฉีดเพื่อป้องกันบาดทะยักรวม 3 ครั้ง 
  3. เมื่อมีบาดแผลจากการถูกหนามตำ ตะปูตำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สัตว์กัด หรือบาดแผลสกปรกใดๆ ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ทันทีหรือเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
  4. สำหรับผู้มีบาดแผลสกปรกหรือขนาดใหญ่ แล้วไม่เคยฉีดยาป้องกันบาดทะยักมาก่อนเลย ควรรับการฉีดอิมมูนโกลบูลินเพื่อป้อนกันพิษบาดทะยัก หรือ เซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ควรฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นอีก 1 ครั้ง แต่ถ้าก่อนหน้านี้เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาไม่เกิน 5 ปี ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อาการเวียนศีรษะ - วิงเวียน หน้ามืดและเป็นลม

อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการเห็นเพดานหรือพื้นหมุน เป็นชั่วขณะเวลาที่ศีรษะมีการเคลื่อนไหว เช่น หันซ้ายขวา หรือก้มๆเงยๆ มักจะเกิดอาการคลื่นไส้ด้วย คนที่เกิดอาการบางคนอาจเดินเซไปเซมา ถ้ามีอาการมากอาจเดินไม่ไหว ส่วนอาการเวียนศีรษะ จะเป็นอาการ มึนงง ตาลาย แต่ไม่มีอาการเพดานหมุนหรือพื้นหมุน

อาการวิงเวียน โดยมากเกิดจากหูชั้นในอักเสบ หรือ อาจเกิดจากสมองขาดเลือดชั่วขณะในผู้สูงอายุ หรือ ทีไอเอ บางครั้งอาจมีสาเหตุจากบางโรคเช่น เนื้องอกในสมอง, โรคเมเนียส์ หรือ อาจเกิดจาก หูชั้นกลางอักเสบ



อาการเวียนศีรษะ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่เกิดภาวะต่างๆ เช่น เป็นลม เป็นไข้ ไมเกรน แพ้ท้อง หรืออาจเกิดจากดื่มเหล้ามาก หรือ จากการฉีดยาบางชนิด

ส่วนใหญ่ผู้ที่เกิดอาการเวียนศีรษะหรือวิงเวียน มักจะเป็นผู้สูงอายุ ขาดการออกกำลังกาย เครียด นอนไม่หลับ อาการวิงเวียนจากสาเหตุเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องทานยา ให้รักษาตามสาเหตุที่เกิดเท่านั้น

แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยป้องกันอาการวิงเวียนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ถ้ามีอาการเดินเซ แขนขาเป็นอัมพาต ตากระตุก ให้ไปพบแพทย์โดยด่วน

ถ้ามีอาการเป็นๆหายๆ โดยที่ยังไม่รู้สาเหตุควรไปโรงพยาบาลเพื่อเช็คร่างกายอย่างละเอียด

เป็นลม

เป็นลมคือสภาวะที่ผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัวอย่างกะทันหัน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เป็นลมธรรมดา, ช๊อกม น้ำตาลในเลือดต่ำหมดสติ เป็นต้น

อาการการเป็นลมธรรมดา

อาการนี้จะเจอมากในคนทุกเพศทุกวัย โดยมากเกิดจากร่ายกายเหนื่อยจัดหรืออ่อนเพลียมาก อยู่ที่กลางแดดร้อนจัด อบอ้าว ตื่นเต้นตกใจ หรือ เสียใจมากอย่างกะทันหัน อากาศไม่พอหายใจ อยู่ในกลุ่มคนที่แออัด ทำให้เกิดสภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หมดสติไปชั่วขณะ แล้วจะฟื้นได้เอง ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ต้องระวังในคนที่เป็นลมแล้วล้มลงจากที่สูง อาจเกิดการกระดูกหักได้ โดยเฉพาะคนสูงอายุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

อาการการเป็นลมจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะเริ่มจากรู้สึกไม่ค่อยสบาย ศีรษะเบาหวิว เริ่มวิงเวียน พื้นโคลงเคลงหรือหมุน หูอื้อ ตาลาย เหงื่ออก อาเจียน มือเท้าเย็น ล้มลงหมดสติ ส่วนใหญ่จะฟื้นได้ในเวลารวดเร็ว

ข้อแนะนำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลม

ให้ผู้ป่วยที่มีอาการนอนศีรษะต่ำไม่ต้องหนุนหมอน ปลดกระดุมเสื้อและเข็มขัดให้หลวม อยู่ในที่อากาศถ่ายเท อาจให้ดมยาแอมโมเนียหอม ห้ามกินอะไรทางปากในขณะที่หมดสติอยู่ ใช้ผ้าเย็นเช็ดบริเวณใบหน้าและคอ

ถ้าผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวอย่าเพิ่งให้รีบลุกหรือนั่งเพราะอาจเกิดอาการอีกครั้งได้ ถ้าผู้ป่วยเริ่มกินได้ ให้ดื่มน้ำ หรือ ดื่มน้ำหวาน หากผู้ป่วยยังฟื้นใน 15 นาทีรีบพาตัวไปพบแพทย์ ในกรณีผู้ป่วยหยุดหายใจให้ผายปอดโดยวิธีเป่าปาก

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กาำรบำรุงผิวที่ไหม้เกรียมด้วยแดดด้วยว่านหางจระเข้

การบำรุงผิวที่ไหม้เกรียมด้วยแดดด้วยว่านหางจระเข้: คุณที่ชอบว่ายน้ำหรือชอบอาบแดดชายทะเล หรือชอบเล่นกีฬา ออกกำลังการกลางแจ้ง หากรู้สึกว่าผิวหน้าถูกไอแดดมากเกินควรหรือมากจนผิวหน้าไหม้เกรียม แสบๆตึงๆ คุณควรรักษาเยียวยาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ไฝฝ้า กระ และจุดด่างดำจะเกิดขึ้นถาวรการบำรุงด้วยว่านหางจระเข้ สามารถรักษาผิดหน้าที่ไหม้เกรียมอย่างได้ผล หรือจะถนอมบำรุงเพื่อป้องกันไว้ก่อนออกแดด ก็จะทำให้ใบหน้าของคุณสดชื่น เปล่งปลั่ง แม้แต่สิวเสี้ยนต่างๆ และกระ ไฝ ฝ้า ก็จะถูกลบให้หมดสิ้นไปอย่างแสนง่ายดายหมั่นบำรุงบ่อยๆทุก 2-3 วัน



เครื่องประทินโฉม
วุ้นในใบว่านหางจระเข้ประมาณ ½ แก้วน้ำดื่ม

อุปกรณ์ประกอบ

  • มีดคมๆเล็กๆ
  • กระดาษทิชชู
  • เครื่องปั่น หรือส้อม
  • ที่คาดผมหรือหมวกคลุมผมสำหรับอาบน้ำ 

ขั้นตอนปฏิบัติ

  1. ใช้มีดคมๆ เฉือนโคนใบว่านหางจระเข้เพียง 1 ใบ พับกระดาษทิชชูแปะไว้ตรงตำแหน่งที่มีรอยถูกเฉือนตัดออกนั้น ใช้ปลายมีดคมๆ ลอกผิวใบออก จะได้วุ้นที่อยู่ภายในใบว่านหางจระเข้
  2. นำวุ้นเหล่านั้นใส่ชามเล็กๆ ใช้ส้อมค่อยๆ ยีเหมือนตีไข่เจียวจนกระทั่งวุ้นเหลวเละ หรือนำวุ้นที่ได้ใส่เครื่องปั่น ปั่นให้พอเละเล็กน้อย ไม่ต้องถึงกับละเอียดเนียนมาก ล้างหน้าของคุณให้สะอาดสะอ้าน ด้วยโฟมล้างหน้ากับน้ำอุ่นๆ ใช้ผ้าขนหนูเช็ด ซับหน้าให้แห้งสนิท เก็บเส้นผมให้เรียบร้อยด้วยหมวกอาบน้ำหรือที่คาดผม เพื่อไม่ให้ผมหล่นมาปรกใบหน้า 
  3. ใช้ปลายนิ้วแตะวุ้นทาให้ทั่วบริเวณใบหน้าตั้งแต่บริเวณหน้าผาก แก้ม จมูก และ คาง ไม่ต้องทาบนเปลือกตา และริมฝีปาก ให้เว้นบริเวณนั้นไว้ ขณะที่ทาวุ้นไปทั่วๆใบหน้านั้นควรกดปลายนิ้ว นวดคลึงบนผิวหน้าให้ทั่วๆ ทั้งใบหน้าด้วย นอนหลับตาสบายๆ หรืออ่านหนังสือ โดยไม่ต้องพูดคุยกับใครไม่ต้องเคลื่อนไหวใบหน้านานประมาณ 25 นาที 
  4. เมื่อได้เวลาแล้วทำสะอาดใบหน้าด้วยน้ำอุ่นๆ กับโฟมล้างหน้า หรือสบู่ให้สะอาดสะอ้าน

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อาหารไม่ย่อย จุกเสียดแน่นท้อง ควรทำอย่างไร

อาหารไม่ย่อย มีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือยอดอก โดยมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ ผสมด้วย จุกเสียด ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ เรอเปรี้ยว แสบท้อง หรืออาเจียนเล็กน้อย โดยอาการจะเป็นบริเวณระดับเหนือสะดือเท่านั้น จะไม่มีอาการปวดท้องในบริเวณใต้สะดือ หรือไม่ผิดปกติในการขับถ่ายด้วย



ชนิดของอาการอาหารไม่ย่อยและสาเหตุ

  1. อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจเกิดจากการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป หรือ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ความเครียดทางด้านจิตใจ หรือ ฮอร์โมนบางอย่างผิดปกติ
  2. ภาวะกรดไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารขึ้นไปหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบลิ้นปี่ขึ้นมาลำคอ รวมถึง เรอเปรี้ยว อาจมีสาเหตุจาก ภาวการณ์ตั้งครรภ์ ความอ้วน มีกรดออกมากเกินไป การสูบบุหรี่ การรัดเข็มขัดแน่นเกินไป หรือ การใช้ยาบางอย่าง เช่นยาต้านแคลเซียม
  3. โรคกระเพาะหรือแผลเพ็ปติก, กระเพาะอาหารอักเสบ
  4. โรคของตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือ ตับอักเสบ
  5. เกิดจากยา เช่น แอสไพริน หรือ ยาที่มีสารสเตอรอยด์ รวมถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิด
  6. อื่นๆ เข่น ความเครียดหรือความวิตกกังวลมากเกินไป
อาการเหล่านี้พบได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก บางรายอาจมีประวัติกินยา ดื่มกาแฟ หรือ ดื่มเหล้า มีความเครียดสูง นอนไม่หลับ วิตกกังวล ในผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนกลับจากกระเพาะขึ้นไปที่หลอดอาหาร จะมีอาการแสบบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่ลำคอรวมถึงมีอาการเรอเปรี้ยวด้วย เป็นมากในเวลาก้มตัวหรือนอนราบ

การรักษา
  • ถ้ามีอาการจุกเสียดแน่นท้อง เฉพาะหลังอาหาร ให้กินยาลดกรด วันละ 4 ครั้ง หรือเฉพาะตอนมีอาการ ถ้าแน่นท้องมาก หรืออาเจียน ให้กินยาเทโทโคลพราไมต์ ก่อนอาหาร 3มื้อ
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยโดยที่ทานยาแล้ว 2 อาทิตย์แล้วยังไม่ดีขึ้น มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายเป็นสีดำ ให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียด
ข้อแนะนำสำหรับ ผู้ป่วยอาหารไม่ย่อย 

  1. กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ งดอาหารเปรี้ยวจัด ของดอง รสเผ็ดจัด อาหารมัน และอาหารสุกๆดิบๆ แนะนำให้กินอาหารมื้อเย็นก่อนเวลาเข้านอนไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป
  2. หลังกินอาหารอิ่ม ไม่ควรรัดเข็มขัดแน่นเกินไป และไม่ควรอยู่ในท่างอตัวหรือล้มตัวลงนอน
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดบุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินด้ว
  4. ถ้าอ้วนเกินไป ควรลดน้ำหนัก
  5. ควรเคี้ยวอาหารอย่างละเอียด เคี้ยวช้าๆ อย่าเร่งกลืนอาหาร และอย่ากินอิ่มมากเกินไป
  6. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  7. ถ้าเครียด ควรหาวิธีคลายความเครียด เช่น ไหว้พระ นั่งสมาธิ หรือ ทำงานอดิเรก ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หวัดภูมิแพ้ – สาเหตุและอาการและวิธีรักษา

หวัดภูมิแพ้หรือหวัดจากการแพ้ พบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งจัดว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอันใด แต่สร้างความน่ารำคาญแก่ผู้ป่วย ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีประวัติว่าเป็นโรคภูมิแพ้ในอดีตหรือมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็น โรคเหล่านี้ เช่น ลมพิษ หืด เป็นหวัดจามบ่อยๆ หรือ เป็นผื่นคัน โดยมีสาเหตุมากจากกรรมพันธุ์

อาการของผู้ป่วยหวัดภูมิแพ้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัดภูมิแพ้จะมีอาการเป็นหวัดจามบ่อย คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ คันตา คันคอ ไอแห้งๆ น้ำตาไหล แสบคอ อาจมีอาการปวดตื้อบริเวณหน้าผาก และอาการต่างๆเหล่านี้มักเกิดเป็นประจำตอนเช้าๆ หรือตอนอากาศเย็น ถูกฝุ่นละออง และพอช่วงสายๆ อาการเหล่านี้จะหายไป



การรักษา

  • ผู้ป่วยต้องสังเกตตัวเองว่าแพ้สารอะไรแล้วพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น ถ้าไปยังสถานที่ที่มีฝุ่นละอองมาก แล้วมีอาการออกมาเช่น จาม หรือ มีน้ำมูก ก็แสดงว่าแพ้ฝุ่น ให้หลีกเลี่ยง ถ้าเป็นในขณะที่นอน ก็อาจเป็นไปได้ว่าแพ้ที่นอนหรือนุ่นในที่นอน หรือที่นอนมีไรฝุ่นอยู่ ก็ให้ทำความสะอาดที่นอน หรือเปลี่ยนที่นอนเป็นแบบไม่ใช้นุ่น
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการทดสอบผิวหนังว่าแพ้สารอะไร แล้วทำการดีเซนซิไทเซขัน หรือการขจัดภูมิไว โดยฉีดสารที่แพ้เข้าร่างกายทีละน้อย เป็นประจำ 1-2 สัปดาห์นานเป็นปี แต่การทำวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูง
  • ถ้ามีน้ำมูกไหลมาก คัดจมูก ก็กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าคัดจมูกมาก ให้กินยาแก้คัดจมูกด้วย แนะนำยาเหล่านี้ให้กินเฉพาะที่มีอาการมากเท่านั้น หรือกินเฉพาะก่อนนอน เพราะยาแก้แพ้ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน
  • ถ้ากินยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์
โรคหวัดภูมิแพ้มักเป็นเรื้อรัง ถ้ามีอาการแค่เล็กน้อย พยายามอย่ากินยาอะไรทั้งสิ้น ห้ามผู้ป่วยกินยาชุดหรือยาลูกกลอนเองเพราะมักมีสารสเตอรอยด์เจือปนอยู่ด้วย ถ้ากินติดต่อกันนานๆอาจมีผลข้างเคียงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

สำหรับยาพ่นจมูก ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้ใช้ ถ้าใช้บ่อยเกินไปอาจทำให้เยื่อจมูกบางหรืออักเสบได้ และไม่มีความจำเป็นสำหรับการรักษาโรคนี้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ เว้นแต่เป็นไซนัสอักเสบหรือน้ำมูกเป็นสีเขียวหรือเหลือง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ จะมีส่วนช่วยทำให้อาการของโรคหวัดภูมิแพ้ทุเลาลงได้ และพยายามทำตัวเองไม่ให้เครียด ก็มีส่วนช่วยให้โรคนี้ทุเลาลง

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ฟันผุ ปวดฟัน เหงือกอักเสบ

ฟันผุ เกิดจากการที่มีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน แบคทีเรียย่อยสลายเศษอาหารนั้น ทำให้เกิดกรดจากการย่อยสลาย กรดนั้นได้ไปกัดกร่อนฟันทีละน้อย จากชั้นเคลือบฟันเข้าไปเรื่อยๆ จนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการปวดฟัน



ในช่วงแรกจะมีอาการเสียวฟันเมื่อกินอาหารเย็นหรือร้อน เมื่อฟันผุมากขึ้น จะมีกลิ่นปาก และเมื่อฟันผุจนถึงโพรงประสาท จะทำให้โพรงประสาทอักเสบ และปวดฟันอย่างรุนแรง บางครั้งปวดแปลบๆตลอดเวลา ถ้ารากฟันเป็นหนอง อาจทำให้เชื้อลุกลามกลายเป็นโลหิตเป็นพิษหรือ ไซนัสอักเสบได้

ควรไปหาทันตแพทย์ เพื่อทำการอุดฟันซี่ที่ผุ หรือถอนฟัน ถ้ามีอาการปวดฟันมากให้กินยาแก้ปวด ชั่วคราว เช่น พาราเซตามอล หรือถ้าเกิดการอักเสบ ให้กินยาแก้อักเสบ

การปวดฟันอาจเกิดจาก ฟันคุด ซึ่งคือ ฟันซี่สุดท้าย โผล่ขึ้นมาไม่ได้ เพราะขากรรไกรเล็กลง ทำให้มีเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย ทำให้มีการอักเสบ บางรายมีอาการไข้ ควรให้ทันตแพทย์ถอนฟันคุดออก

การป้องกันฟันผุ 

  1. แปรงฟันให้ถูกวิธี อย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง เช้าหลังตื่นนอน และ กลางคืนก่อนเข้านอน
  2. หลีกเลื่ยงการกินลูกอม ทอฟฟี่ และขนมหวาน
  3. ใช้ฟลูออไรด์ ในรูปแบบ น้ำยาบ้วนปาก หรือ ผสมในยาสิฟัน เพราะฟลูออไรด์จะช่วยเสริมสร้างผิวเคลือบฟันให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น จะยิ่งได้ผลดีสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 14ปีลงมา 

เหงือกอักเสบ (โรคปริทันต์ รำมะนาด) พบได้บ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก สาเหตุเกิดจาก การรักษาความสะอาดในช่องปากไม่ดีพอ ทำให้เกิดการสะสมของ หินปูนและ dental plaque (แผ่นคราบฟัน) ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียอยู่มาก เชื้อแบคทีเรียนี้ได้ปล่อยสายพิษออกมาบริเวณเหงือก ทำให้เหงือกเกิดการบวมและอักเสบได้ จนกระทั่ง มีการทำลายกระดูกเบ้ารากฟัน เกิดอาการฟันโยก และเกิด ฝีรำมะนาด

อาการ
ไม่มีอาการปวดแต่ขอบเหงือกจะบวมแดงและเลือดออกง่ายเวลาแปรงฟัน เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีกลิ่นปากและ เหงือกร่น ถ้าเป็นมากต้องเจาะเอาหนองออก ถอนฟัน หรือ ผ่าตัดเหงือก

การรักษา ควรไปหาทันตแพทย์ เพื่อขูดหิดปูนและทำความสะอาดช่องปาก หรือใช้ยาบ้วนปากที่ผสมยาฆ่าเชื้อ โรคเหงือกอักเสบสามารถป้องกันได้โดย แปรงฟันให้ถูกวิธี อย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง เช้าหลังตื่นนอน และกลางคืนก่อนเข้านอนเพื่อรักษาความสะอาดโดยไม่ให้มีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ (แผ่นคราบฟัน) ใช้ไหมขัดฟัน ขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง ควรหมั่นไปหาทันตแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหินปูน เป็นประจำทุก 6 เดือน

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

แก้ปัญหาผมร่วงอย่างไรดี

ผมร่วง พบบ่อยมากในคนทุกวัย แต่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผมร่วงมีหลายสาเหตุเช่น ผมร่วงตามธรรมชาติ จากกรรมพันธุ์ หรือ อาจเกิดจากโรคต่างๆ บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

ผมร่วงตามธรรมชาติ

คนเราโดยปกติจะมีเส้นผมประมาณ 1000,000 เส้น ประมาณ 90% จะอยู่ในช่วงที่มีการเจริญงอกงาม ผมจะงอกยาว ประมาณวันละ 0.35 มิลลิเมตร และมีอายุประมาณ 2-6 ปี แล้วจึงหยุดเจริญงอกงาม ในระยะหยุดงอก 10-15% ผมจะร่วงในระยะ 3 เดือน การสระผมหรือหวีผมจะทำให้ผมมีโอกาสร่วงง่ายขึ้น คนปกติทั่วไปก็มีผมร่วงทุกวัน ไม่เกิน 100เส้นต่อวัน และจะมีเส้นผมงอกมาใหม่ทดแทนส่วนที่ร่วงไป

สำหรับบางคนที่ผมร่วงมาก จะมีอาการเครียด วิตก นอนไม่หลับ จริงๆแล้ว ถ้าร่วงไม่เกินวันละ 100 เส้น ก็ยังถือว่าไม่ผิดปกติแต่อย่างใด



ผมร่วงจากซิฟิลิส

คนที่เป็นซิฟิลิสในระยะที่2 อาจแสดงอาการผมร่วงออกมาด้วย ผู้ป่วยที่เป็นซิฟิลิสอาจมีอาการ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีอาการไข้ ส่วนผมร่วงอาจร่วงเป็นกระจุก และบริเวณหนังศีรษะคล้ายถูกแมลงแทะเป็นหย่อมๆ และถ้าลองดึงเส้นผมเบาๆเส้นผมจะหลุดง่ายกว่าปกติ บริเวณที่นอนและหมอน มีผมร่วงตกอยู่มาก ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาโรคซิฟิลิส เมื่อหายแล้ว อาการผมร่วงจะดีขึ้น

ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ 

ผมร่วงจากสาเหตุนี้พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ จะมีพ่อแม่มีผมบาง ทำให้รากผมบริเวณที่ผมร่วง มีอายุสั้นกว่าปกติและร่วงเร็ว (แต่จำนวนเส้นที่ร่วงในแต่ละวันไม่ผิดปกติ) ส่วนผมที่งอกมาใหม่ มีขนาดเล็กและบางสั้นจนเป็นเส้นขนอ่อนๆ ทำให้บริเวณนั้นดูไม่มีผมหรือบางผิดปกติ มักจะเกิดที่บริเวณตรงกลางศีรษะหรือหน้าผาก อาการจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ และเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะยิ่งร่วงมากขึ้น อาจมีรังแคมากด้วย ส่วนการรักษา ยังไม่มี ต้องให้ผู้เป็นยอมรับในสภาพ ถ้ารู้สึกเป็นปมด้อย อาจผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม หรือใส่วิกผมปลอมก็ได้

ผมร่วงเนื่องจากผมหยุดเจริญชั่วคราว 

จำนวนผมร่วงยังปกติ แต่จำนวนผมที่งอกมาทดแทนกลับน้อยเกินไปหรือหยุดงอกมาทดแทน สาเหตุที่ทำให้ผมหยุดเจริญชั่วคราวที่พบบ่อย คือ
  • เป็นไข้สูง เช่น เป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้รากสาดน้อย จะมีอาการผมร่วงหลังเป็นไข้ ประมาณ 2 ถึง 3 เดือน 
  • คุณแม่หลังคลอดบุตร ผมมักจะร่วงหลังคลอดประมาณ 3 เดือน
  • ภาวะเครียดเกินไป ทำให้เส้นผมหยุดการงอกชั่วคราวได้
  • การใช้ยาบางชนิด เล่น ยาคุมกำเนิด

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โดนแมลงต่อย สัตว์กัด – วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การโดนแมลงต่อยหรือโดนสัตว์กัด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย และมักจะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในเด็ก ถ้าโดนแมลงต่อยจำพวก ผึ้ง แตน ต่อ หมาร่า หรือ แมลงภู่ แมลงหล่านี้มีเหล็กในอยู่ที่ส่วนปลายของลำตัวเมื่อต่อยเรา จะปล่อยน้ำพิษเข้ามาใส่ส่วนที่โดนต่อย และเกิดอาการต่างๆ ถ้าโดนต่อย ส่วนมากจะมีอาการ บวม แดง แสบร้อน และคัน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นหลายชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการค่อนข้างรุนแรง อาการบวมหรือแดงจะลามไปทั่วบริเวณที่ถูกต่อย และอาการเป็นหลายวัน มีอาการปวดมาก



ในผู้ถูกต่อยบางคนอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงจากการโดนผึ้งหรือต่อต่อย นอกจากบริเวณส่วนที่ถูกต่อยจะบวมแดงแล้ว ส่วนอื่นยังอาจมีอาการด้วย เช่น หนังตาคัน และริมฝีปากบวม คลื่นไส้ ลมพิษลามขึ้นทั้งตัว หายใจไม่ออก อาเจียน แน่นหน้าอก หลอดลมหดตัว ที่รุนแรงมากอาจถึงช๊อคตายได้ในเวลาไม่กี่นาที

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

  1. ให้เอาเหล็กในของแมลงที่ต่อยออก โดยใช้ปลายเข็มหรือใบมีด ขูดออก อาจใช้ สกอตเทปปิดตรงบริเวณที่ถูกต่อย แล้วดึงออกเหล็กในจะหลุดติดออกมาด้วย หรือ ใช้ด้ามปากกากดบริเวณใกล้ๆที่ถูกต่อย เพื่อดันเหล็กในให้โผล่ออกมา แล้วดึงออก ใช้แอมโมเนีย หรือสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ทาให้ทั่วบริเวณที่ถูกต่อย เพื่อทำลายภาวะเป็นกรดของพิษ แล้วใช้น้ำแข็งประคบส่วนนั้นไว้
  2. ถ้ามีอาการปวดเล็กน้อย ให้ใช้ยาหม่องทา
  3. ถ้าปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด หรืออาจใช้ถุงน้ำแข็งวางในส่วนถูกต่อยเพื่อช่วยให้อาการปวดทุเลาลง
  4. ถ้ามีอาการบวม หรือแพ้เฉพาะที่ ให้กินยาแก้แพ้
  5. ถ้าผู้ถูกแมลงต่อย มีอาการรุนแรงมากหรือช๊อค ให้รีบส่งแพทย์ ตรวจและรักษาทันที 

โดนสัตว์กัด เช่น สุนัขกัดแมว หรือหนูกัด อาจทำให้เกิดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ หรือบางครั้งอาจเป็นบาดทะยัก ถ้าเป็นงูกัด อาจเป็นอันตรายเนื่องจากพิษได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  1. ให้ผู้ถูกกัดรีบล้างแผลให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยน้ำสะอาดและฟอกด้วยสบู่ ควรจะฟอกสบู่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 นาที แล้วใช้ผ้าสะอาดหรือผ้ากอซพันแผลปิดแผลไว้ ควรล้างบาดแผลด้วยน้ำเกลือ 3-4 วัน
  2. ถ้าแผลค่อนข้างรุนแรงเหวอะหวะให้ ส่งแพทย์ทันที
  3. ถ้าโดนงูกัด ให้ใช้ผ้า หรือ เชือก สายยางรัด แขนหรือขาบริเวณที่ถูกงูกัด เหนือรอยเขี้ยวประมาณ 2-4 นิ้ว ให้รัดให้แน่นเพื่อป้องกันพิษเข้าสู่ร่างกายโดยเร็ว และต้องคลายออกทุกๆ 15 นาที โดยคลายครั้งละประมาร 30-60 วินาที จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล โดยให้เคลื่อนไหวส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยสุด ควรจัดตำแหน่งส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ เนื่องจากพิษงูที่มีผลต่อประสาท ให้เป่าปากช่วยหายใจไปตลอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ลมพิษ – สาเหตุ อาการและการรักษา

ลมพิษ พบได้ในทุกเพศทุกวัย มีโอกาสพบมากในคนวัย 20 -40 ปี มีโอกาสพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 1.5 เท่า ส่วนมากเป็นไม่นาน ไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมงจะหายเอง แต่บางรายอาจเป็นเรื้อรัง ถ้าคนใดเป็นลมพิษนานเกิน 2 เดือน เรียกว่า ลมพิษชนิดเรื้อรัง ถ้าเป็นติดกันไม่เกิน 2 เดือน เรียกว่า ลมพิษชนิดเฉียบพลัน



สาเหตุของการเกิดลมพิษ

เมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ ร่างกายจะสร้างสารที่เรียกว่า ฮิสตามีน ออกมาจากเซลล์ชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดฝอยเกิดการขยายตัว เกิดเป็นผื่นแดง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล ปลา กุ้ง ไข่ ถั่ว เต้าเจี๊ยว เหล้า เบียร์ เซรุ่ม รวมถึงพวกแมลงกัดต่อย เช่น พวกยุง ผึ้ง มด ฝุ่น เกสรดอกไม้ ละออง เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง บางครั้ง การติดเชื้อ เช่น หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคพยาธิ หรือ ไตอักเสบ ก็ทำให้เกิดอาการลมพิษได้เหมือนกัน

ในคนที่เป็นโรคลมพิษชนิดเรื้อรัง ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุของการเกิด ส่วนน้อยที่จะรู้สาเหตุ เช่น แพ้ความเย็น ความร้อน แสงแดด เหงื่อ การขีดข่วนที่ผิวหนัง หรือ แรงดันน้ำ บางครั้งอาจเป็นเพราะเป็นโรค เช่น มะเร็ง เอสแอลอี เป็นต้น

คนที่เป็นลมพิษ จะมีอาการคือ เป็นวงนูนแดง คัน มีรุปร่างต่างๆกันไป เป็น วงรี วงกลม เนื้อถายในวงจะนูนและสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย จะรู้สึกคันมาก ถ้าเกาตรงไหนจะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น และลามไปเรื่อยๆ รู้สึกร้อนตามผิวที่เกิดลมพิษ

ลมพิษเกิดขึ้นที่ส่วนต่างๆของร่างกายได้ทุกส่วน ทั้ง หน้า ลำตัว แขน ขา หลัง วงนูนแดงจะเป็นอยู่ 3-4 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นติดต่อกันเป็นวันๆก็ได้ แต่ส่วนมากจะหายไปเองในไม่กี่วัน

บางรายเป็นลมพิษรุนแรง เรียกว่า ลมพิษยักษ์ ซึ่งมีอาการบวมของเนื้อเยื่อลึก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3นิ้ว ปกติจะขึ้นที่ หนังตา ริมฝีปาก ลิ้น หู แขน มือ เป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง จะหายไปเอง ในผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังจะเป็นทุกวันอยู่นานกว่า 2 เดือน บางรายอาจเป็นแทบทุกวันเป็นปี จะหายไปเอง

การรักษา

  1. ประคบด้วยน้ำแข็ง น้ำเย็น หรือทาด้วยเหล้า หรือยาแก้ผดผื่นคัน
  2. กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน
  3. ในกรณีหายใจลำบาก หรือเป็นลมพิษยักษ์ ให้ส่งแพทย์ทันที
  4. ถ้ากินยาแล้วยังไม่ดีขึ้น 1 สัปดาห์ ให้ไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ 

ข้อแนะนำ 

  • ให้ผู้ป่วยสังเกตว่าตัวเองแพ้อะไรที่ทำให้เกิดลมพิษ อาจเป็น ยา อาหาร หรือฝุ่นละออง เพื่อที่จะได้หลีกเลื่ยงจากสารนั้นๆ
  • พยายามไม่เครียด และไม่วิตกกังวล ทำใจให้สบาย มีโอกาสทำให้ลมพิษบรรเทาได้ สำหรับคนที่เป็นเรื้อรัง ควรกินยาแก้แพ้เป็นประจำ จนกว่าจะหาย