วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การป้องกันบาดทะยัก

บาดทะยัก เป็นโรคที่ร้ายแรง เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า คลอสตริเดียมเตตานิ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะพบตามพื้นดิน หิน ทราย และในอุจจาระของสัตว์ต่างๆ เมื่อร่างกายมีบาดแผลที่เปื้อนด้วยเชื้อโรคชนิดนี้ และเป็นแผลลึก เมื่อเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายจะปล่อยสารพิษซึ่งจะทำลายระบบประสาทของคนที่ติดเชื้อ ทำให้ทั่วร่างกายมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ



อาการของคนที่เป็นโรคบาดทะยัก

ในช่วงระยะแรกของการติดเชื้อ จะมีอาการขากรรไกรแข็ง ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ อ้าปากไม่ได้ กระสับกระส่าย กลืนอาหารลำบาก ถ้าทารกติดเชื้อนี้ จะมีอาการร้องไห้จ้า อ้าปากไม่ได้ และไม่ยอมดูดนม

กล้ามเนื้อทั่วไป เช่น แขนขา หน้าท้อง และหลัง เกิดหดตัวอย่างรุนแรง คอแข็ง และหลังแอ่น

ต่อมาผู้ป่วยจะชักกระตุกของกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นพักๆ โดยเฉพาะเมื่อถูกเนื้อต้องตัวหรือถูกแสงสว่าง ผู้ติดเชื้อบาดทะยักจะรู้สึกตัวดี แต่จะรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อเกิดอาการชักกระตุก เมื่อเกิดอาการชักกระตุก ผู้ป่วยอาจหายใจลำบาก และถึงตายได้ บางรายอาจเกิดอาการขาดอาหารเพราะกลืนอาหารไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อหูรูดเกิดการแข็งตัว

ถ้าผู้ป่วยรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็น มีโอกาสหายได้ แต่ถ้าไม่รีบรักษาปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรงแล้ว มีโอกาสอย่างมากที่จะตาย โดยปกติ ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดตายจากโรคนี้ประมาณ 50%

การป้องกันโรคบาดทะยัก

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน เมื่อทารกอายุ 2 เดือน และควรฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี
  2. หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยฉีดยาป้องกันบาดทะยักมาก่อนเลย ควรฉีดเพื่อป้องกันบาดทะยักรวม 3 ครั้ง 
  3. เมื่อมีบาดแผลจากการถูกหนามตำ ตะปูตำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สัตว์กัด หรือบาดแผลสกปรกใดๆ ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่ทันทีหรือเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
  4. สำหรับผู้มีบาดแผลสกปรกหรือขนาดใหญ่ แล้วไม่เคยฉีดยาป้องกันบาดทะยักมาก่อนเลย ควรรับการฉีดอิมมูนโกลบูลินเพื่อป้อนกันพิษบาดทะยัก หรือ เซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ควรฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นอีก 1 ครั้ง แต่ถ้าก่อนหน้านี้เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาไม่เกิน 5 ปี ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น