วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

แก้อาการเป็นตะคริวทำอย่างไร

ตะคริวเป็นอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งและปวดมากซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นในระยะเวลาไม่นาน กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวบ่อย เป็นบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาและน่อง ตะคริวเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากและพบได้เป็นครั้งคราวในคนเกือบทุกคน



สาเหตุของตะคริว

มักจะเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดตะคริวมากผิดปกติในระยะหนึ่ง เช่น เป็นตะคริวหลังออกกำลังมากผิดปกติ หรือ นั่งหรือยืนในท่าที่ไม่สะดวกเป็นเวลานาน (ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก) คนที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำก็มีโอกาสเป็นตะคริวได้บ่อย โดยเฉพาะ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ มีโอกาสเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น เนื่องเพราะระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ หรือเกิดสภาวะไหลเวียนของเลือดไปขาไม่สะดวก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน คนสูงอายุ จะมีความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นตะคริวได้มากขึ้นด้วย

ในคนที่ร่างกายเสียโซเดียม เนื่องจาก อาเจียน หรือ ท้องเดิน รวมทั้งเสียเหงื่อเป็นอันมาก (ทั้งจากการเล่นกีฬา และจากอากาศร้อน) มีโอกาสสูงที่จะเป็นตะคริวรุนแรง คือ จะเกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกายเป็นตะคริวและระยะเวลาที่เป็นจะนาน

อาการของตะคริว 

คนที่เป็นตะคริว จะรู้สึกจู่ๆกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง (เช่นที่ต้นขาหรือน่อง) เกิดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อและจะปวดมาก ถ้าเอามือคลำบริเวณที่เกิดตะคริวจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ยิ่งพยายามขยับกล้ามเนื้อบริเวณนั้นยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น การยืดกล้ามเนื้อหรือนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว จะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น ปกติตะคริวจะเป็นอยู่ไม่กี่นาทีก็จะหายเอง และเมื่อหายแล้วจะรู้สึกเป็นปกติทุกอย่าง

การรักษาผู้ที่เป็นตะคริว
  • ถ้าเป็นตะคริวตอนนอนตอนกลางคืนบ่อยๆ (เช่น คนสูงอายุ หรือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์) ควรดื่มนมก่อนนอน และควรให้หมอนรองขาเพื่อยกขาให้สูงขึ้น จากเตียงประมาณ 4 นิ้ว ในผู้สูงอายุที่เป็นตะคริวบ่อยในตอนกลางคืน ควรกินยาไดเฟนไฮดรามีน ขนาด 50 มิลลิกรัม ก่อนนอน ช่วยป้องกันตะคริวได้ ส่วนในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ อาจกินยา แคลเซียมแลกเทด วันละ 1- 3เม็ด
  • ขณะเป็นตะคริว ให้ยืดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นให้ตึง ใช้มือนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาให้เหยียดเข่าให้ตรงและยกเท้าขึ้นให้สูงจากเตียงเล็กน้อยโดยกระดกปลายเท้าลงล่างด้วย
  • คนที่เป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรงและดึงปลายเท้าเข้าหาเข่าให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
  • คนที่เป็นตะคริวจากการเสียเกลือโซเดียม (เช่น เกิดจาก อาเจียน ท้องเดิน หรือเสียเหงื่อมาก) ควรดื่ม น้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไป แต่ถ้าดื่มไม่ได้ ควรให้น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ทางหลอดเลือดดำ - สำหรับคนที่เป็นตะคริวบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น